13 ธันวาคม 2552

ความหมายของกรีฑา

กีฬา-กรีฑา



          ในภาษาไทยมีคำจำนวนมากซึ่งรับมาจากภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต การรับคำมาใช้อาจจะรับมาโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งการเขียน การอ่าน และความหมายตามภาษาเดิม เช่น กรินี กริณี หรืออาจจะดัดแปลงเฉพาะการเขียนหรือการอ่านให้เหมาะสมกับอักขรวิธีไทยแต่ความหมายยังคงเดิม เช่น บิตา เป็น บิดา ปฤถวี ปฐวี เป็น ปถวี, ปฐพี หรือดัดแปลงการเขียน และความหมาย เช่น อฎฐิ (กระดูก) เป็น อัฐิ (กระดูกของคนที่เผาแล้ว) บางคำก็นิยมใช้รูปของภาษาใดภาษาหนึ่งมากกว่า เช่น คำ "อัฐิ" ใช้ตามรูปภาษาบาลี คำ "กรรม" ใช้ตามรูปภาษาสันสกฤต

          นอกจากการรับมาใช้ในลักษณะดัดแปลงดังกล่าวแล้ว ยังมีการนำคำบางคำซึ่งในภาษาบาลีและสันสกฤตมีความหมายเหมือนกันและไทยรับเอาคำจากทั้ง ๒ ภาษามาใช้ แต่แยกใช้ในความหมายที่แตกต่างกัน เช่น คำ "กีฬา" และ "กรีฑา"

           คำ "กีฬา" (บาลี) และ "กรีฑา" (สันสกฤต) มีความหมายเหมือนกันคือ "การเล่น, การเล่นสนุก, เล่น" แต่ในภาษาไทยใช้ในความหมายที่ต่างกัน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้บทนิยามไว้ว่า


           กีฬา น. กิจกรรมหรือการเล่นเพื่อความสนุกเพลิดเพลินเพื่อเป็นการบำรุงแรงหรือเพื่อผ่อนคลายความเคร่งเครียดทางจิต. (ป.). (ดู กรีฑา). (หน้า ๑๐๑)

          กรีฑา น. กีฬาประเภทหนึ่ง แบ่งออกเป็นแผนกลู่และแผนกลาน; การเล่นสนุก เช่น ... (หน้า ๕๔)
จะเห็นได้ว่าคำทั้ง ๒ นี้ในภาษาไทยใช้ในความหมายที่เฉพาะเจาะจงกว่าความหมายในภาษาเดิม
ในสารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๓ ได้อธิบายความหมายของ "กีฬา" ไว้ดังนี้


         "ในวงการพลศึกษา ได้นิยมใช้คำทั้งสองนี้ไปในลักษณะที่มีความหมายแตกต่างกัน กล่าวคือคำว่า กีฬา นั้น หมายความถึงกิจกรรมหรือการเล่นเพื่อความสนุก เพื่อเป็นการบำรุงแรง เพลิดเพลิน ผ่อนคลายความเครียดทางจิตใจ เช่น การเล่นฟุตบอล รักบี้ บาสเกตบอล บิลเลียด เทนนิส กอล์ฟ หมากรุก ไพ่ การล่าสัตว์ ว่ายน้ำ ปีนเขา มอญซ่อนผ้า ตีคลี กรีฑา ฯลฯ แต่ละอย่างนับเป็นกีฬา"

         ส่วนคำ "กรีฑา" ได้มีคำอธิบายไว้ในสารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๑ ไว้ดังนี้

         "กรีฑา เป็นกิจกรรมทางพลศึกษาประเภทหนึ่ง จัดรวมอยู่ใน "กีฬา" (sports) กล่าวคือ กรีฑาเป็นประเภทหนึ่งของบรรดากีฬาทั้งหลาย เช่นเดียวกับฟุตบอลหรือรักบี้เป็นประเภทหนึ่งของกีฬาเช่นกัน"

         "กรีฑา แบ่งได้เป็น ๒ แผนก แผนกหนึ่งเรียกว่า แผนกลู่ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า track หมายความว่าการแข่งขันในแผนกนี้ต้องมีทางวิ่งหรือแนวทางวิ่ง ... กรีฑาแผนกลู่ได้แก่ การวิ่งระยะ ๕๐ เมตร ๑๐๐ เมตร ... อีกแผนกหนึ่งเรียกว่า แผนกลาน ภาษาอังกฤษใช้ว่า field หมายความว่า ในการแข่งขันแผนกนี้ต้องมีสนาม หรือที่ว่าง หรือลาน เป็นที่สำหรับทำการแข่งขัน กรีฑาแผนกลานได้แก่ การขว้างจักร พุ่งแหลน ทุ่มลูกน้ำหนัก กระโดดสูง..."

         การยืมคำในภาษาหนึ่งมาใช้ในอีกภาษาหนึ่งมีอยู่ทุกชาติ และไม่จำเป็นว่าเมื่อยืมมาแล้วจะต้องรักษารูป เสียง และความหมายตามเดิมทุกประการ มิฉะนั้นภาษาก็จะไม่มีการพัฒนาและเจริญเติบโต ซึ่งทำให้ภาษานั้นจะต้องตายไปในที่สุด.


ที่มา : จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๗, กรกฎาคม ๒๕๓๒



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น